อายุมากขึ้นทำไมมองใกล้ๆไม่ชัด

เมื่อเรามีอายุย่างเข้า 40 ปีจะเริ่มรู้สึกว่ามองตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กๆ เช่น ฉลากยา ตัวหนังสือในโทรศัพท์ไม่ค่อยเห็นเหมือนเมื่อก่อน จนบางทีต้องถือวัตถุยืดแขนจนสุดมือถึงจะพอมองเห็นได้บ้าง บางครั้งพอฝืนมองมากขึ้นก็เกิดอาการปวดหัวจนบางครั้งร้าวถึงท้ายทอย เกิดจากอะไร?
จริงๆแล้วดวงตาของเราจัดเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว การทำงานของดวงตานอกเหนือจากการรับแสงจากวัตถุภายนอกเพื่อส่งสัญญาณการมองเห็นไปที่สมองแล้ว อีกหนึ่งกลไกที่ดวงตาทำ คือการเพ่งและโฟกัสภาพให้มีความคมชัด(Accommodation) ในขณะที่เรามองวัตถุในระยะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองในระยะไกลเช่นการขับรถหรือการมองในระยะใกล้เช่นการอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ (ระบบการเพ่งก็เหมือนระบบ Auto-focus ของกล้องถ่ายรูปนั้นแหละครับ)

เมื่อเราอายุมากขึ้นถึง 40 ปี ระบบการเพ่ง(Accommodation)จะเริ่มเสื่อมลง เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาภายในลูกตา(Crystalline lens)ขาดความยืดหยุ่น จึงไม่สามารถปรับโฟกัสเพื่อเพ่งมองวัตถุในระยะใกล้ได้
ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะสายตายาวตามวัย(Presbyopia)
ภาวะสายตายาวตามวัยจะมีอาการมากขึ้นหรือไม่?
สายตายาวตามวัยจะมีอาการมากขึ้นตามอายุที่ค่อยๆมากขึ้น และจะหยุดขึ้นเมื่อเรามีอายุราว 60 ปี
สายตายาวตามวัยสามารถหักล้างกับสายตาสั้นที่เราเป็นอยู่ได้มั๊ย?
สายตายาวตามวัย ไม่ สามารถหักล้างกับสายตาสั้นที่เราเป็นอยู่ได้
แต่จะทำให้เรามีทั้งสายตาสั้น และ สายตายาวตามวัย โดยจะทำให้ค่าสายตาในการมองในระยะไกล และระยะมองใกล้ มีคนละเบอร์ เช่นมองไกลจะมองได้ชัดเมื่อใส่ค่าสายสั้นเบอร์ -4.00 D มองใกล้จะมองได้ชัดเมื่อใส่ค่าสายตาสั้นเบอร์ -2.00 D เป็นต้น
ภาวะสายตายาวตามวัยสามารถแก้ไขได้อย่างไร?
การแก้ไขสายตายาวตามวัยแบ่งได้ออกเป็น 3 วิธี
1.แว่นสายตา
แบ่งโดยการใช้เลนส์สายตาได้ออกเป็น 3 ชนิดหลัก
1.1 เลนส์แว่นตาสำหรับอ่านหนังสือหรือมองในระยะใกล้โดยเฉพาะ(Single vision lens) เป็นเลนส์สำหรับดูหรือใช้งานได้แต่ระยะใกล้ ระยะชัดอยู่ในช่วงแขนประมาณ 40 เซนติเมตร เท่านั้น
ข้อดี ราคาประหยัด ปรับตัวต่อการใช้แว่นใหม่ไม่นาน
ข้อเสีย ขาดความยืดหยุ่นในการใช้งาน มองได้แค่ระยะอ่านหนังสือเท่านั้น อาจต้องมีแว่นมากกว่า1อัน
1.2 เลนส์แว่นตาโปรเกรสซีฟ(Progressive lens) เป็นเลนส์ที่สามารถมองได้ทั้งระยะไกลและระยะใกล้ได้ในอันเดียว
ข้อดี สามารถมองได้ครบทุกระยะการใช้งาน ไม่ต้องคอยสวมแว่นเข้าออกหรือมีแว่นหลายอัน
ข้อเสีย มีราคาค่อนข้างสูง ต้องมีการปรับตัว ต้องอาศัยความแม่นยำ ความชำนาญของผู้ตรวจวัดสูง
1.3 เลนส์แว่นตาเฉพาะทาง(Occupational lens) เป็นเลนส์ที่ต่อยอดจากเลนส์สำหรับอ่านหนังสือ ช่วยให้สามารถมองในระยะกลางได้มากขึ้น ระยะชัดจะอยู่ตั้งแต่ 40 เซนติเมตรไปจนถึง 2-4 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์เฉพาะทาง
ข้อดี มีพื้นที่ในการมองที่ชัดลึกกว่า ยืดหยุ่นมากกว่าเลนส์ชั้นเดียว พื้นการใช้งานในระยะกลางกว้างกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ
ข้อเสีย การมองในระยะไกลยังสู้เลนส์โปรเกรสซีฟไม่ได้ และต้องมีการปรับตัวในระยะแรก
2.คอนแทคเลนส์
2.1 คอนแทคเลนส์ชนิด Multifocal ชนิดแก้ไขสายตายาวตามวัย
ข้อดี เป็นคอนแทคเลนส์ที่ทำให้สามารถมองได้ทั้งระยะไกลและใกล้ ในอันเดียว
ข้อเสีย ต้องใช้เวลาในการปรับตัว และมีราคาค่อนข้างสูง
2.2 ใช้คอนแทคเลนส์โดยหลักการ monovision
การใส่คอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไขค่าสายตาโดยใช้ตาเด่นสำหรับมองในระยะไกล และใช้ตารองสำหรับมองในระยะใกล้
ข้อดี สามารถมองได้ทั้งระยะไกล และ ระยะใกล้โดยไม่ต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์
ข้อเสีย ต้องมีการปรับตัวในระยะแรกเนื่องจากต้องฝึกตาหลักสำหรับมองไกล และ ตาอีกข้างสำหรับมองในระยะใกล้
3.การผ่าตัดเพื่อแก้ไขค่าสายตา
3.1 การผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาโดยหลักการ monovision
การผ่าตัดปรับแก้ไขค่าสายตาโดยให้ตาข้างเด่นสำหรับมองในระยะไกลและให้ตารองสำหรับมองในระยะใกล้
ข้อดี สามารถมองได้ชัดทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ โดยไม่ต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์
ข้อเสีย ต้องมีการปรับตัวและอาจมีผลในเรื่องการกะระยะและการมองภาพเชิงสามมิติ