รีวิว เลนส์โปรเกรสซีฟ Carl Zeiss Precision Plus

เลนส์โปรเกรสซีฟที่จะนำมารีวิวในวันนี้เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟแบรนด์ Carl Zeiss จากเยอรมนี

ก่อนอื่นแอดมินของเล่าเรื่องราวประวัติ ของแบรนด์ Carl Zeiss ก่อนคร่าวๆนะครับ

แบรนด์ Carl Zeiss ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1846 หรือราว 170 ปีมาแล้ว จากห้องแลปเล็กๆ ณ เมืองเจน่า ประเทศเยอรมนี ก่อตั้งโดย Mr. Carl Zeiss และนักคณิตศาสตร์ฟิสิกส์ Mr. Ernst Abbe ได้ร่วมทำการคิดค้นอุปกรณ์เกี่ยวกับเลนส์ที่มีความละเอียดสูง จวบจนมาถึงปัจจุบัน Zeiss ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมเลนส์ และ Optoelectronics และได้รับการยอมรับสูงสุดในอุตสาหกรรมเลนส์แว่นตาทั่วโลก Carl Zeiss ถือเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานที่สุดจากจักษุพทย์ นักทัศนมาตร ผู้ปฏิบัติงานด้านสายตา ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วโลก

เลนส์โปรเกรสซีฟ Carl Zeiss Precision Plus จัดอยู่ในตระกูล Precision ซึ่งจะมีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีหลัก 3 เทคโนโลยีคือ

  1. Clear Optic เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดในทุกระยะ
  2. Dynamic Optic เพื่อให้ผู้สวมใส่ไม่เกิดอาการเพ่งหรือต้องปรับสายตาเมื่อเปลี่ยนระยะการมอง
  3. Thin Optic เทคโนโลยีที่ทำให้เลนส์มีความบางและเบาที่สุดในทุกค่าสายตาเท่าที่จะเป็นไปได้

มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เพิ่มเสริมขึ้นมาอีกถึง 3 เทคโนโลยี จากเทคโนโลยีหลักข้างต้น เพื่อให้การใช้งานโปรเกรสซีฟของผู้สวมใส่มีประสิทธิภาพการมองเห็นที่เพิ่มมากขึ้นได้แก่

Digital Inside™ Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกดีไซน์ให้เหมาะกับพฤติกรรมการมองใกล้ในยุคปัจจุบันซึ่งมีระยะการมองที่แตกต่างจากในอดีต โดยเน้นการอ่านผ่านอุปกรณ์ดิจิตอลเป็นหลักเช่น สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต

FrameFit®+ Technology เทคโนโลยีที่มีที่มาว่าในการเลือกเลนส์โปรเกรสซีฟ เดิมทีนั้นเลนส์โปรเกรสซีฟไม่ได้ถูกออกแบบให้เหมาะกับกรอบแว่นในทุกรูปแบบ จึงมีข้อจำกัดว่าต้องเลือกกรอบให้เหมาะสมกับเลนส์นั้นๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกรอบในรูปแบบต่างๆได้อิสระและหลากหลายมากขึ้น

Adaptation Control™ Technology เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปรับตัว ทำให้ผู้สวมใส่ปรับตัวกับแว่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

เลนส์โปรเกรสซีฟ Carl Zeiss Precision Plus ยังสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับกรอบแว่นตาที่เราเลือกได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ 1. Precision Plus และ 2. Precision Plus Asiana โดยการอ้างอิงค่าพารามิเตอร์ของแว่นตาในขณะสวมใส่

พารามิเตอร์ของแว่นตาคืออะไร

Precision Plus มีการดีไซน์โครงสร้างของเลนส์โปรเกรสซีฟให้มีความเหมาะสมกับลักษณะแว่นตาที่มีค่าพารามิเตอร์ดังนี้

มุมเทหน้าแว่น (Pantoscopic Tilt) ที่ 9 องศา
ความห่างจากเลนส์ถึงกระจกตา (Cornea Vertex Distance) ที่ 12 มิลลิเมตร
ความโค้งหน้าแว่น (Face Form Angle) ที่ 6.5 องศา

Precision Plus Asiana โดยจะมีการดีไซน์โครงสร้างของเลนส์โปรเกรสซีฟให้มีความเหมาะสมกับลักษณะแว่นตาหน้าตรงที่มีค่าพารามิเตอร์ดังนี้

มุมเทหน้าแว่น (Pantoscopic Tilt) ที่ 4-5 องศา  
ความห่างจากเลนส์ถึงกระจกตา (Cornea Vertex Distance) ที่ 12 มิลลิเมตร
ความโค้งหน้าแว่น (Face Form Angle) ที่น้อยกว่า 0-2 องศา

ความพิเศษของเลนส์โปรเกรสซีฟ Carl Zeiss Precision Plus สามารถที่จะออกแบบลักษณะคอริดอร์ ได้อย่างอิสระ (คอริดอร์สำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟหมายถึง ระยะทางการเหลือบตาจากจุดโฟกัสในการมองในระยะไกล มายังโฟกัสสำหรับการมองใกล้หรืออ่านหนังสือ) ทำให้เราสามารถเลือกระยะการเหลือบตาที่เหมาะสมและละเอียดมากขึ้น ไม่ว่ากรอบแว่นตานั้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถที่จะเลือกคอริดอร์ที่เหมาะสมให้เหมือนเลนส์โปรเกรสซีฟที่เคยใส่มาก่อนได้เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการปรับตัวของผู้สวมใส่

ชิ้นเลนส์มีการเคลือบผิวเลนส์ด้วยโค้ท DuraVision® Platinum เทคโนโลยีการเคลือบผิวสูงสุดของ Carl Zeiss ที่มีการเคลือบผิวถึง 9 ชั้นเพื่อให้เลนส์มีความแข็งแกร่งลดการการเกิดรอยที่ผิวเลนส์ได้ เลนส์มีความใสผิวเลนส์ทำความสะอาดได้ง่ายลดการจับตัวของฝุ่นและคราบสกปรก

 รีวิวกรณีตัวอย่าง

ค่าสายตา

R -2.25 -0.25*105 (สายตาสั้น -2.25 สายตาเอียง -0.25 องศาเอียง 105)
L -1.75 -1.50*40 (สายตาสั้น -1.75 สายตาเอียง -1.50 องศาเอียง 40)
Addition +1.25 (สายตายาวตามวัย 1.25)

PD R 29.5 (ความห่างตาดำจากจุดกึ่งกลางสันจมูกมาจุดโฟกัสตาขวา 29.5 มิลลิเมตร)
PD L 30.5 (ความห่างตาดำจากจุดกึ่งกลางสันจมูกมาจุดโฟกัสตาซ้าย 30.5 มิลลิเมตร)

กรอบแว่นตา Silhouette

Frame Parameter

  • Pantoscopic tilt 4 องศา (ค่ามุมเทหน้าแว่น 4 องศา)
  • Faceform angle 2 องศา ( ค่าความโค้งหน้าแว่น 2 องศา)
  • Cornea vertex distance 12 มิลลิเมตร (ค่าความห่างจากกระจกตาถึงผิวเลนส์ด้านหลัง  12 มิลลิเมตร)

ทำไมถึงเลือกจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น  Carl Zeiss Precision Plus Asiana ?

ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาคือ ค่าสายตาและลักษณะของกรอบแว่นตา

1.มีค่าสายตาเอียงในปริมาณที่มากในตาข้างซ้าย (สายตาเอียง -1.50 D) และเป็นลักษณะของสายตาเอียงชนิด Obligue Astigmatism ซึ่ง Carl Zeiss Precision Plus มีประสิทธิภาพที่เพียงพอในการควบคุมค่าสายตาที่มีปริมาณสูงๆ ได้อย่างดี

2.ลักษณะของกรอบหรือ Frame Parameter มีมุมเทที่ค่อนข้างน้อย (4องศา) ซึ่งCarl Zeiss Precision Plus สามารถที่จะระบุเป็นชนิด Asiana รองรับลักษณะกรอบที่มีความเทหน้าแว่นน้อยๆ และหน้าแว่นตรงได้ ทำให้ผู้สวมใส่ยังได้มุมมองการมองเห็นที่ดีจากเลนส์โปรเกรสซีฟคู่นี้

3.Carl Zeiss Precision Plus สามารถที่จะระบุลักษณะ corridor (ระยะการเหลือบจากจุดมองไกลมายังโซนอ่านหนังสือ) ได้อย่างอิสระหลากหลายซึ่งโดยปกติแล้ว สามารถระบุได้ 2-3 รูปแบบเท่านั้น Carl Zeiss Precision Plus สามารถเลือก corridor ได้ถึง 6 รูปแบบหลักตั้งแต่ 10 mm. ถึง 16 mm. ทำให้สามารถใช้กับกรอบแว่นตาได้อย่างหลากหลาย 

Carl Zeiss Precision Plus จึงเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจไม่น้อย  เนื่องจากคุณสมบัติของเลนส์รุ่นนี้สามารถครอบคลุมทุกๆปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของเลนส์โปรเกรสซีฟ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถที่จะรองรับค่าสายตาของผู้สวมใส่ที่มีปริมาณสูงๆมาก ความสามารถที่จะระบุ ระยะการเหลือบจากจุดมองไกลมายังโซนอ่านหนังสือ ได้อย่างอิสระ และมีให้เลือกเป็นสองชนิด คือชนิด Plus และ Plus Asiana เพื่อให้ใกล้เคียงกับ frame parameter ที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ได้ภาพที่คมชัดและมุมมองการใช้งานที่กว้างขวางนั้นเองครับ

 


You may also like

ดูทั้งหมด
Example blog post
Example blog post
Example blog post