เลนส์แว่นตามีกี่ประเภท มีข้อดีข้อเสียยังไง เลือกอย่างไรเวลาไปตัดแว่น

เลนส์แว่นตามีกี่ประเภท มีข้อดีข้อเสียยังไง เลือกอย่างไรเวลาไปตัดแว่น

การเลือกเลนส์แว่นตาที่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกกรอบแว่นตา เนื่องจากเลนส์แว่นตามีด้วยกันหลากหลายชนิด เลนส์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงอายุของผู้ใช้งานและวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละคน ผู้เขียนขอจำแนกเลนส์โดยแบ่งออกเป็น2กลุ่ม 

  • เลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • เลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

เลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

การเลือกเลนส์แว่นตาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีความซับซ้อนมากกว่าเนื่องจากเริ่มมีภาวะสายตายาวตามวัยเข้ามารบกวน สาเหตุเกิดจากเลนส์แก้วตาที่อยู่ภายในดวงตาเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่นทำให้ประสิทธิภาพในการเพ่งหรือโฟกัสตัวอักษรที่มีขนาดเล็กลดลง ยกตัวอย่างของอาการเช่น มองตัวหนังสือขนาดเล็กในระยะใกล้ไม่ชัด 

เลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปประกอบด้วย

เลนส์โปรเกรสซีฟ
  • เลนส์โปรเกรสซีฟ

เลนส์แว่นตาที่ถูกออกแบบให้มีค่ากำลังสายตามากกว่าหนึ่งค่าสายตาอยู่ภายในชิ้นเลนส์เดียว เรียกได้ว่าเป็นเลนส์อเนกประสงค์สำหรับผู้ที่มีภาวะสายตายาวตามวัยช่วยให้สามารถมองเห็นได้ทุกระยะการใช้งานภายในแว่นตัวเดียว ไม่ต้องทำการถอด-ใส่ หรือสลับแว่นตาระหว่างแว่นมองไกลกับแว่นสำหรับอ่านหนังสือ

ข้อดี 

  1. มองเห็นได้ทุกระยะการใช้งาน ระยะไกล-กลาง-ใกล้
  2. ตัวเลนส์แว่นดูสวยงาม ไร้รอยต่อที่ผิวเลนส์
  3. มองเห็นได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ข้อเสีย

  1. ต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้ในช่วงแรกของการใช้งาน
  2. มีราคาสูงเมื่อเทียบกับเลนส์ชนิดอื่น
  3. การตรวจวัดต้องอาศัยความชำนาญและความแม่นยำของผู้ตรวจวัดสูง
เลนส์สองชั้น
  • เลนส์สองชั้น

เลนส์แว่นตาที่มีค่ากำลังสองค่าสายตาในชิ้นเลนส์เดียวโดยมีรอยต่อของเลนส์ขั้นแบ่งระหว่างโซนมองไกลกับโซนมองใกล้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเลนส์ที่ช่วยให้มองไกลและการมองใกล้ได้ภายในเลนส์เดียว

ข้อดี

  1. มองเห็นได้สองระยะ ทั้งระยะไกล และระยะใกล้
  2. มุมมองระยะใกล้ค่อนข้างกว้าง
  3. ราคาไม่สูง

ข้อเสีย

  1. ต้องมีการปรับตัวจากการเปลี่ยนระยะการมองเพราะมีจังหวะภาพกระโดด
  2. มีรอยต่อบนผิวเลนส์ทำให้ส่งผลต่อบุคลิกของผู้สวมใส่
  3. ไม่สามารถมองในระยะกลาง เช่นระยะคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้
เลนส์เฉพาะทาง
  • เลนส์เฉพาะทางสำหรับทำงานในออฟฟิศ

เลนส์แว่นตาที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์คนที่ต้องทำงานและใช้สายตาในการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ งานเอกสารในช่วงโต๊ะ และงานออฟฟิศเป็นเวลานาน ช่วยเพิ่มระยะการมองเห็นครอบคลุมทั่วทั้งโต๊ะทำงาน เน้นให้ความสำคัญการมองเห็นในระยะกลางและระยะใกล้เป็นพิเศษ โดยได้มุมมองในระยะโต๊ะทำงานมากกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ และได้รับระยะชัดที่ลึกขึ้นมากกว่าเลนส์ชั้นเดียวสำหรับอ่านหนังสือ

ข้อดี

  1. การมองเห็นในระยะกลางและระยะใกล้กว้าง
  2. หาโฟกัสในระยะการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ง่ายปรับตัวไม่ยาก มีระยะการทำงานยืดหยุ่น
  3. ไม่ต้องเชิดหน้าในการมองหน้าจอหรือขยับหน้าเข้าใกล้จอเพื่อให้มองให้ชัด

ข้อเสีย

  1. นำไปใช้มองในระยะไกลหรือขับรถไม่ได้
  2. ต้องมีการฝึกมองและปรับตัวในช่วงแรกของใช้งานบ้าง
  3. มีราคาที่แพงกว่าเลนส์ชั้นเดียว
เลนส์ชั้นเดียว
  • เลนส์ชั้นเดียว

เลนส์ชั้นเดียวคือเลนส์แว่นตาที่มีค่ากำลังสายตาเพียงค่าเดียวในชิ้นเลนส์นั้น เป็นชนิดเลนส์ที่ให้ความคมชัดสูงสุด ในกรณีผู้ใช้งานที่มีอายุมากกว่า 40 ปีเป็นต้นไปหรือเป็นผู้ที่มีสายตายาวตามวัย การเลือกทำแว่นโดยใช้เลนส์ชั้นเดียวจำเป็นต้องเลือกวัตถุประสงค์ของการใช้งานว่าเราต้องการใช้แว่นสำหรับกิจกรรมใด เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ

  • เลนส์ชั้นเดียวสำหรับทำแว่นอ่านหนังสือ 
    • ระยะการใช้งานจะอยู่ในช่วงแขน ระยะวัตถุที่มองห่างจากดวงตา 30-40 เซนติเมตร
    • สำหรับการมองโทรศัพท์มือถือ หนังสือ
  • เลนส์ชั้นเดียวสำหรับแว่นทำงานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
    • ระยะการใช้งานจะอยู่ในช่วงโต๊ะ ระยะวัตถุที่มองห่างจากดวงตา 50-60 เซนติเมตร
    • สำหรับการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
  • เลนส์ชั้นเดียวสำหรับทำแว่นไว้ขับรถ
    • ระยะการใช้งานจะเป็นการมองไปในระยะไกล ระยะวัตถุที่มองอยู่ห่างจากดวงตาตั้งแต่ 6 เมตรเป็นต้นไป
    • สำหรับการขับรถหรือมองวิวทิวทัศน์ในระยะไกล

ข้อดี

  1. การมองเห็นในระยะใช้งานให้ความคมชัดสูงสุด มุมมองกว้าง
  2. ปรับตัวง่าย ภาพบิดเบือนต่ำ
  3. ราคาไม่สูง

ข้อเสีย

  1. ขาดความยืดหยุ่น มองได้เพียงระยะการใช้งานเพียงระยะเดียว
  2. ต้องคอยถอด-สลับแว่นเมื่อเปลี่ยนระยะการมอง
  3. ต้องคอยพกแว่นมากกว่า 1 ตัว

เลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

การเลือกเลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี คนในกลุ่มนี้ค่าสายตายังไม่ซับซ้อนมาก เนื่องจากดวงตายังมีกำลังและความสามารถในการเพ่งหรือโฟกัสตัวอักษรขนาดเล็กได้

 เลนส์แว่นตาสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีประกอบด้วย

single vision
  • เลนส์ชั้นเดียว

เลนส์แว่นตาที่มีค่ากำลังสายตาเพียงค่าเดียวอยู่ภายในชิ้นเลนส์นั้นโดยวางจุดโฟกัสไว้บริเวณจุดกึ่งกลางของเลนส์ เป็นเลนส์พื้นฐานสำหรับผู้ที่ต้องการตัดแว่น 

ข้อดี

  1. ปรับตัวได้ง่าย ภาพบิดเบือนน้อยกว่าเลนส์ชนิดอื่น
  2. ให้ภาพที่คมชัดสูงสุด มุมมองกว้าง
  3. ราคาเริ่มต้นไม่แพง

ข้อเสีย

  1. ถ้าไม่ใช่ลักษณะการขัดเลนส์แบบพิเศษ ไม่สามารถใส่ฟังก์ชั่นลดอาการเพ่งหรือช่วยชะลอสายตาสั้นในวัยเด็กได้
computer lens
  • เลนส์ลดอาการตาล้า

เลนส์แว่นตาที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับหน้าจออุปกรณ์ดิจิตอลเป็นระยะเวลานาน เลนส์ลดอาการตาล้าต้องใช้ลักษณะการผลิตเลนส์แบบพิเศษโดยใช้เทคโนโลยีฟรีฟอร์ม เพื่อใส่กำลังขยายอ่อนๆลงไปในเลนส์เพื่อให้ผู้ใช้งานมองหน้าจอในระยะใกล้ได้สบายมากยิ่งขึ้น

ข้อดี

  1. มองหน้าจออุปกรณ์ดิจิตอลได้สบายตามากยิ่งขึ้น
  2. ช่วยลดอาการตาล้า อาการปวดหัวจากการเพ่งหน้าจอนานๆ
  3. เป็นเลนส์อเนกประสงค์ มองได้ทุกระยะการทำงานจบในแว่นอันเดียว

ข้อเสีย

  1. จำเป็นต้องมีการปรับตัวในระยะแรก
  2. ต้องเรียนรู้ตำแหน่งการมองในระยะแรก
  3. อาจรู้สึกถึงภาพบิดเบือนของเลนส์
  • เลนส์ชะลอสายตาสั้นในเด็ก

เลนส์แว่นตาที่ถูกออกแบบมาเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นที่มักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเด็กในช่วงอายุ 7-12 ปี เลนส์แว่นตาชะลอสายตาสั้นมีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อควบคุมไม่ให้เด็กมีสายตาสั้นที่มากเกินไป เนื่องจากสายตาสั้นในปริมาณมากเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคตาที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

ข้อดี

  1. ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นไม่ให้มีปริมาณสายตาสั้นมากเกินไป
  2. ลดอัตราการเกิดโรคตาจากสายตาสั้นในปริมาณมาก
  3. ตัวเลนส์ทำจากวัสดุเลนส์นิรภัย

ฟังก์ชั่นเสริมในเลนส์แว่นตา

ฟังก์ชั่นเสริมเพิ่มเติมที่สามารถใส่ลงไปในเลนส์แว่นตาเพื่อเพิ่มศักยภาพของเลนส์แว่นตาในการปกป้องดวงตาของผู้สวมใส่

1.ป้องกันแสงสีฟ้า

  • ปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้าที่ปล่อยมาจากหน้าจออุปกรณ์ดิจิตอลมีผลต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาว
  • ลดอาการตาล้า แสบตา ระคายตา 
  • ลดอาการนอนไม่หลับ เนื่องจากแสงสีฟ้าไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ

เลนส์ป้องกันแสงสีฟ้าเหมาะสำหรับ

ผู้ที่ต้องใช้สายตากับอุปกรณ์ดิจิตอลเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน

2.ย่อเลนส์ให้บาง

  • ช่วยให้เลนส์มีความบางมากขึ้น
  • ช่วยให้เลนส์แว่นตามีน้ำหนักที่เบาลง
  • ช่วยให้เลนส์ดูบางและสวยงามเมื่อประกอบเข้ากับกรอบแว่นตา

เลนส์ย่อบางเหมาะสำหรับ

ผู้ที่มีปริมาณสายตาสั้นหรือยาวในปริมาณมาก

3.ย้อมสีเลนส์ 

  • ปกป้องดวงตาจากรังสียูวีอันเป็นสาเหตุของโรคตา
  • ช่วยกรองและลดปริมาณแสงจ้าจากแสงแดด ลดอาการระคายเคืองตา
  • เพิ่มคอนทราสต์ของสี ให้มองได้ชัดเจน
  • ช่วยเสริมความสวยงามของเลนส์ให้ดูมีสีสัน ไม่จำเจ

เลนส์ย้อมสีเหมาะสำหรับ

ผู้ที่มีอาการดวงตาสู้แสงไม่ไหว และผู้ที่ต้องการให้แว่นดูมีสีสันสวยงามตามเทรนด์สายแฟชั่น ผู้ที่มีความบกพร่องในการเห็นสีบางเฉดสี

4.เปลี่ยนสีอัตโนมัติ

  • เปลี่ยนสีเลนส์จากใสให้เข้มเหมือนเลนส์กันแดดอัตโนมัติเมื่อออกกลางแจ้ง
  • ปกป้องดวงตาจากรังสียูวี แสงสีฟ้าจากอุปกรณ์ดิจิตอล และแสงจ้าจากแดดเมื่อออกลางแจ้งได้ภายในแว่นเดียว
  • เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานเนื่องจากสามารถแก้ไขค่าสายตาและปกป้องดวงตาไปได้ในขณะเดียวกัน

เลนส์เปลี่ยนสีอัตโนมัติเหมาะสำหรับ

ผู้ที่ต้องการการปกป้องดวงตาอย่างเต็มรูปแบบและต้องการความสะดวกสบายในการใช้แว่นตา รวมถึงผู้ที่มีปัญหาแพ้แสงจ้าจากแดด

5.ลดแสงฟุ้งกระเจิงเวลากลางคืน

  • ช่วยลดแสงฟุ้งกระเจิงจากไฟหน้ารถ 
  • เพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นในช่วงเวลากลางคืน

เลนส์ลดแสงฟุ้งกระเจิงเวลากลางคืน เหมาะสำหรับ

ผู้ที่ต้องขับรถในช่วงเวลากลางคืนอยู่เป็นประจำแล้วมีปัญหารบกวนจากการเจอแสงกระเจิงจากไฟหน้ารถและแสงจากไฟข้างทาง

6.เสริมป้องกันรอยขีดข่วน

  • ลดการเกิดรอยขีดข่วนที่ผิวเลนส์
  • ยืดอายุการใช้งานของเลนส์ให้นานมากขึ้น

เลนส์แว่นตาเสริมป้องกันรอยขีดข่วนของเลนส์ เหมาะสำหรับ

ผู้ที่มีลักษณะการใช้แว่นถอด-ใส่เข้าออกอยู่เป็นประจำซึ่งมีโอกาสที่ผิวเลนส์จะตกกระทบพื้นขณะถอดวางแว่นอยู่บ่อยๆ ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นผง ฝุ่นทราย ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดรอยของเลนส์แว่นตา ผู้ที่ต้องการยืดอายุการใช้งานของแว่นตาคู่นั้นให้นานมากขึ้น

7.เสริมเลนส์นิรภัย

  • เลนส์แข็งแรง ไม่แตก
  • ป้องกันและลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อดวงตา

เลนส์แว่นตานิรภัย เหมาะสำหรับ

เด็กเล็กที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาจากกิจกรรมต่างๆ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ดวงตาจะได้รับเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในขณะทำงาน เช่นผู้ที่ทำงานในไซด์ก่อสร้าง ผู้ที่เหลือดวงตาที่สามารถใช้งานได้อยู่เพียงข้างเดียว