เลนส์โปรเกรสซีฟ
ภาวะสายตายาวตามวัย (Presbyopia)
ทันทีที่อายุของเรานั้นล่วงเลยมาจนเข้าอายุ40 ปี ย่อมเป็นธรรมดาที่ร่างกายของเราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เสื่อมถอยลง ซึ่งย่อมรวมถึงดวงตาของเราด้วยเช่นกัน สำหรับคนที่ไม่เคยมีปัญหาทางสายตามาก่อนเลยจะเริ่มสังเกตพบว่า การอ่านตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กๆ ในระยะใกล้นั้นยากขึ้น เริ่มไม่ชัด จำเป็นที่จะต้องยื่นวัตถุนั้นออกไปให้ห่างจากตัวมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้สามารถอ่านได้ชัดมากขึ้น สาเหตุนั้นเกิดจาก เลนส์แก้วตาที่อยู่ในดวงตาของเรานั้นเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่นลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการโฟกัสภาพเมื่อต้องมองวัตถุในระยะใกล้ลดลง อาการลักษณะนี้เราเรียกว่า “ภาวะสายตายาวตามวัย” หรือ Presbyopia
การแก้ไขปัญหาสายตายาวตามวัยโดย เลนส์โปรเกรสซีฟ
เลนส์โปรเกรสซีฟ หรือ เลนส์หลายระยะไร้รอยต่อ เรียกได้ว่าเป็นเลนส์ที่ประกอบไปด้วยหลายๆค่าสายตาภายในเลนส์ชิ้นเดียว ทำให้สามารถมองได้ชัดเจนในทุกๆระยะ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแว่นตาสลับไปมาระหว่างแว่นอ่านหนังสือกับแว่นสายตาธรรมดา หรือใช้วิธีมองลอดแว่นให้เสียบุคลิกภาพ และไม่มีเส้นแบ่งโซนการมองทำให้เราสามารถมองภาพได้อย่างเป็นธรรมชาติ
เลนส์โปรเกรสซีฟจะมีการแบ่งพื้นที่การมองโดย โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนคือ
- โซนสำหรับการมองในระยะไกล ไว้สำหรับ ขับรถ เล่นกีฬา
- โซนสำหรับมองในระยะกลาง สำหรับใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ มองแผงคอนโซลรถยนต์
- โซนสำหรับการมองในระยะใกล้ คือในช่วงระยะ 40 cm. เช่น อ่านหนังสือ มองจอโทรศัพท์มือถือ
แต่ละโซนการมองจะมีพื้นที่การมองไม่เท่ากันโดย พื้นที่การมองที่กว้างที่สุดจะเป็นพื้นที่สำหรับมองในระยะไกล รองลงมาคือพื้นที่สำหรับการมองในระยะใกล้ และในระยะกลางจะมีพื้นที่การมองน้อยที่สุด
เลนส์โปรเกรสซีฟมีหลายรุ่น ราคาถูกแพงไม่เท่ากัน เราควรเลือกใช้เลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นไหนดี
การพิจารณาว่าเราจะเหมาะสมกับเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย
1.ปริมาณค่าสายตา
แม้ว่าในปัจจุบันเลนส์โปรเกรสซีฟในท้องตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยี Freeform ในการผลิตเลนส์โปรแกรสซีฟกันหมดแล้วก็ตาม (เทคโนโลยีFreeformคือรูปแบบการขัดเลนส์ที่เพิ่มความละเอียดในการผลิตมากขึ้น ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟสามารถแก้ไขค่าสายตาได้หลากหลายคลอบคลุมมากกว่าเทคโนโลยีเก่า)แต่ถึงกระนั้นค่าสายตาก็ยังเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อมุมมองและโครงสร้างของเลนส์โปรเกรสซีฟ คนที่มีปริมาณค่าสายตาอ่านหนังสือ หรือ Addition ที่สูงย่อมมีผลต่อมุมมองการใช้งานที่แคบลง กลุ่มคนที่มีค่าสายตาเอียงในปริมาณที่มากๆ โดยเฉพาะแกนขององศาเอียงในมุม Oblique กลุ่มคนที่มีปริมาณค่าสายตาสั้นยาวในตาทั้งสองข้างต่างกันมากกว่า 1.00 D. หรือที่เรียกว่า Anisometropia ย่อมมีผลต่อการปรับตัวต่อเลนส์โปรเกรสซีฟที่มากกว่า คนที่มีปริมาณค่าสายตาไม่มาก
ค่าสายตา 0.00 ADD +1.00
ค่าสายตา 0.00 ADD +2.00
2.ลักษณะโครงหน้า
ลักษณะรูปหน้ามีผลต่อตำแหน่ง ระยะห่างของดวงตาทั้งสองข้าง ในบางคนที่มีใบหน้ากว้าง โครงหน้าใหญ่ย่อมมีระยะห่างของตาทั้งสองข้างมากกว่าคนที่มีโครงหน้าเล็ก ระยะห่างของดวงตาทั้งสองข้างมีผลต่อลักษณะการเหลือบตาจากการมองในระยะไกลมาระยะใกล้ คนที่มีความห่างตาดำกว้างจะมีระยะการเหลือบตามากกว่าคนที่มีความห่างตาดำน้อยกว่า หรือในคนที่มีระยะความห่างตาดำในตาทั้งสองข้างไม่เท่ากันต่างกันเกิน 2 mm. ก็จะมีผลทำให้ลักษณะการเหลือบตามีปริมาณที่ไม่เท่ากัน ปัจจัยดังกล่าวย่อมมีผลต่อความสบายในการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟเช่นกัน
ระยะความห่างตาดำในตาทั้งสองข้างไม่เท่ากันต่างกันเกิน 2 mm.
3.ลักษณะของกรอบแว่นตา
กรอบแว่นตาแต่ละแบบล้วนมีลักษณะที่แตกต่างกัน เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาลักษณะของกรอบแว่นนั้น เราจะวัดจากพารามิเตอร์ของกรอบแว่นตา ประกอบไปด้วย มุมเทหน้าแว่น ค่าระยะห่างระหว่างกระจกตาถึงด้านหลังของเลนส์ ความโค้งหน้าแว่น โดยปกติเลนส์โปรเกรสซีฟจะมีค่าพารามิเตอร์มาตรฐานที่เหมาะสมแตกต่างกันไปแล้วแต่ยี่ห้อ หากว่าลักษณะพารามิเตอร์ในขณะที่สวมใส่อยู่บนใบหน้านั้น พบว่าเป็นไปตามค่ามาตรฐานตามข้อบ่งชี้ของเลนส์โปรเกรสซีฟยี่ห้อนั้นๆ ก็จะมีผลทำให้ได้ประสิทธิภาพของเลนส์โปรเกรสซีฟสูงสุด แต่หากค่าพารามิเตอร์ไม่ตรงตามมาตรฐานก็จะมีผลต่อมุมมองการใช้งานของเลนส์โปรเกรสซีฟได้เช่นกัน
จากปัจจัยทั้ง 3 ประการข้างต้น ได้แก่ ปริมาณค่าสายตา ลักษณะโครงหน้า ลักษณะกรอบแว่นตา จะถูกนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการแนะนำรุ่นของเลนส์โปรเกรสซีฟที่เหมาะสม เนื่องจากเลนส์โปรเกรสซีฟแต่ละรุ่นนั้นล้วนมีข้อบ่งชี้ในการเลือกใช้เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน สามารถปรับตัวได้เร็ว ได้มุมมองในการใช้งานที่เหมาะสม มองได้คมชัดสวมใส่ได้สบายที่สุดนั้นเองครับ